"อาชีวะเกษตรลำพูน" ชู Coding for Farm ต้นแบบ 1 ไร่ 1 แสน

 

นายแสวง ทาวดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ลำพูน เปิดเผยว่า Coding for Farm พัฒนาแนวคิดมาจากการทำเกษตรกรรมแบบประณีตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

โดย Coding for Farm เป็นโครงการ 1 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลโดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เน้นการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบในการทำเกษตร โดยใช้พื้นที่จำกัดให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด 

เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ทำเกษตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ วางแผนทั้งระบบตั้งแต่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แปรรูป จัดจำหน่าย และดูแลรักษา ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรเกิดรายได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถพึ่งพาตนเองได้ 

ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ได้ทดลองทำการเกษตรบนพื้นที่ 1 ไร่ ขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร โดยได้เลือกปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่ พืชสมุนไพร พืชดอก พืชประดับ พืชยืนต้น กว่า 50 ชนิด 

ซึ่งการปลูกพืชจะเน้นพืชที่มีอายุสั้น ใช้บริโภคในครัวเรือน เป็นผักพื้นถิ่นเจริญเติบโตได้ดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย ให้ผลผลิตสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดในชุมชน 

สำหรับพืชสมุนไพรบางชนิดสามารถนำมาเพิ่มมูลค่า และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด 

ส่วนพืชประดับ เป็นพืชที่ใช้ประดับตกแต่งในพื้นที่ให้เกิดความสวยงาม ความสบายตา และยังสามารถใช้ประกอบอาหารได้ เช่น อ่อมแซบให้สีสันของดอกสีม่วงและยังใช้ประกอบอาหารพื้นเมืองได้ ไผ่เลี้ยงหวาน ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อสร้างขอบเขต ให้ความสวยงาม และยังสามารถใช้เนื้อไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่างๆ ได้  

เฟิร์นข้าหลวงหลังลาย ปลูกเพื่อคลุมดินและให้ความชุ่มชื้นกับพื้นที่ได้ ชบาเมเปิ้ลที่มีสีของใบม่วงปนแดงเข้ม ให้ความสวยงามและยังนำมาผลิตเป็นน้ำชบาเมเปิ้ล และแยมชบาเมเปิ้ลได้อีกด้วย 


ด้านการเลี้ยงสัตว์ เน้นสัตว์ที่สามารถบริโภคได้ทุกครัวเรือน โดยชนิดของสัตว์ที่เลือกมานั้น เป็นสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคสูง มีความต้องการของตลาดในชุมชน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และสามารถจำหน่ายได้ง่าย 

การประมง เช่น กบ ปลา การเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ การวางแผนจำหน่ายแบบปลีกและส่ง และการวางแผนการจัดเก็บผลผลิตเพื่อจัดจำหน่ายเป็นรายวัน, ราย 3 วัน, รายสัปดาห์, รายเดือน, ราย 3 เดือน และรายปี ตลอดจนการใช้จุลินทรีย์และสารชีวภาพในการดูแลรักษา เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ผู้อำนวยการ วษท.ลำพูน กล่าวต่อว่า โครงการต้นแบบ 1 ไร่ 1 แสน ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน สามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการทำการเกษตรแบบครบวงจร ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ พึ่งพาตนเอง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมอบรม Coding for farm โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ติดต่อได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน โทร.0-5300-6252

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)