รมว.อว.ตั้งเป้า“ดีด”ไทยประเทศพัฒนาใน 7 ปี แต่ต้องไม่สอน-เรียนตามก้นชาติอื่น

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงนโยบายการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการประชุมวิชาการระดับชาติภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนภิเษก (คปก.) และโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ประจำปี 2564 (The 2021 National RGJ and RRI Conferences) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยโดยคนวิจัยกับโจทย์ท้าทายในยุควิถีใหม่” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564

โดย ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า เป้าหมายงานวิจัยและนวัตกรรม คือการสร้างประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีความเป็นอารยะ สำหรับ อว.การที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีการใช้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาเป็นแผนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้

ใช้ศิลปะวิทยาการทั้งปวง ไม่ใช่สอนหรือเรียนไปตามประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ทำนวัตกรรมเพื่อนวัตกรรมอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ในศิลปะวิทยาการ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ในการขับเคลื่อนหรือเรียกว่าเป็นการ “ดีด” ประเทศไทยให้พ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การทำวิจัยแบบเรื่อยๆ ทุกหัวข้อตามแบบชาติอื่นๆ ก็เหมือนเราเอางบประมาณมาถมในหลุมที่มีจำนวนมาก เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะถมหลุมทุกหลุมให้เต็ม เราต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ต้องมีจุดโฟกัสและต้องไม่พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป  แต่ต้องมีเป้าของเราให้ชัดเจน คือ ต้องทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 20 ปี แต่สำหรับ อว.ควรทำให้ได้ภายใน 7-10 ปี 

ตัวเลข 7 ปีนี้เอามาจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหน่วยงาน/สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่มีเป้าหมายในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า ถือเป็นหมุดหมายที่อยากเห็น ทุกเรื่องต้องตั้งเป็นธงให้ชัดเจน

ศ.ดร.เอนกกล่าวอีกว่า การออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำได้ 2 ทาง เรามีดีเอ็นเอที่เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เราก็ทำได้ดี แต่เราต้องเลิกความคิดที่ว่าพึ่งพาเทคโนโลยีคนอื่น 

นโยบายของ อว.ไม่ควรเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้องเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์แบบประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.อย่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องทำอะไรแบบก้าวกระโดดใหญ่ๆ อะไรที่จะทำให้เราก้าวกระโดดใหญ่ๆ ได้ เราต้องทำ 

2.ต้องทำอะไรที่เป็นบายพาส (Bypass) หรือทางลัดให้ได้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องคิดแบบมียุทธศาสตร์คือ ต้องรบให้ชนะ ไม่ว่าจะเป็นทางเลี่ยง ทางเบี่ยง ทางลัด ก็ต้องหาทางให้ได้ และ 3.เราจะต้องทราบว่าเวลานี้เราอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ซีกตะวันออกมีความสำคัญขึ้นมาก ไม่ใช่ทางตะวันตกเท่านั้น เราต้องใช้ประโยชน์จากการขัดแย้ง และประชันขันแข่งของสองทวีปนี้ให้ได้มากที่สุด  

อว.เป็นกระทรวงที่เอกอัครราชทูตต่างประเทศมาพบเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเขารู้ว่าเราทำได้ เขาก็ต้องการมาขาย มาขอความร่วมมือ มีบางประเทศที่เขาเก่งและเราละเลยที่ผ่านมา อย่างสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศที่มีความน่าสนใจและยังมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"เราต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เราต้องพยายามมองหาสิ่งที่จะพลิกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 5G, 6G, AI ถ้ามีคนที่จะไป 6G เราก็ต้องขยับไปตรงนั้นให้เร็ว เราควรมีการทำงานและคิดข้ามศาสตร์สาขา ต้องกล้าคิดที่จะทำ เปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติ ให้เชื่อมั่นว่าเรามีอนาคตทางวิทยาศาสตร์ วิจัย เหมือนเรื่องยานอวกาศไปดวงจันทร์ ที่คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ไทยเราทำได้” ศ.ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.มีหน้าที่สำคัญในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม

ในครั้งนี้ วช.ลงนามความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอก กับกรมวิชาการเกษตร และลงนามความร่วมมือการร่วมสนับสนุนทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ทั้งสองโครงการนี้เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่างๆ อีกทั้งเป็นการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้นำผลงานไปใช้ประโยชน์ ทั้งมิติวิชาการและมิติสังคม

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)